ประวัติความเป็นมาของ "ก่อ-อึมปี้"

ศาลเจ้าหลวงจองคำ บ้านสะเกิน อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน

เจ้าหลวงจองคำ เป็นผู้นำทัพของเจ้าเมืองน่าน ที่ทำหน้าที่เฝ้าเมืองหน้าด่านบริเวณบ้านสะเกิน โดยมีป้อมค่ายอยู่บริเวณบ้านปางค่า อำเภอปง จังหวัดพะเยา

ถิ่นกำเนิด

ตามประวัติศาสตร์บอกเล่าต่อๆ กันมาว่าชนเผ่าพื้นเมืองก่อ-อึมปี้ เคลื่อนย้ายมาจากแคว้นสิบสองปันนา ในประเทศจีน เมื่อประมาณ 200-400 ปีมาแล้ว โดยสันนิษฐานว่าถูกกวาดต้อนจากการขยายอิทธิพลและหรืออาณาเขตของอาณาจักรต่างๆ ในสมัยโบราณ และถูกเกณฑ์มาตั้งถิ่นฐานอยู่ตามเส้นทางเดินทัพตั้งแต่ประเทศลาว และเคลื่อนย้ายมาตามพื้นที่แอ่งเชียงคำ-ท่าวังผา และตั้งถิ่นฐานสุดท้ายหมู่บ้านเสือกืน ตำบลยอด อำเภอปง จังหวัดเชียงราย (ปัจจุบันคือหมู่บ้านสะเกิน ตำบลยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน) และ บางส่วนได้ถูกเกณฑ์มาอยู่ที่บ้านดง ตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ แต่ทั้งนี้ยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใดๆ บ่งชี้ถึงความเป็นมาของชนเผ่าพื้นเมืองก่อ(อึมปี้)ได้



ชนเผ่าพื้นเมืองก่อ(อึมปี้) มีถิ่นกำเนิดจากแคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน ทั้งจากการเทียบเคียงภาษาและจากประวัติศาสตร์บอกเล่าสืบต่อกันมาของชนเผ่าก่อ(อึมปี้) ทั้งสองพื้นคือบ้านสะเกิน จังหวัดน่าน และบ้านดง จังหวัดแพร่ เชื่อว่าบรรพบุรุษก่อ(อึมปี้) มาจากเมืองเหนือ หรือแถบสิบสองปันนาที่อยู่ทางใต้ของประเทศจีน ซึ่งอดีตเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของไทลื้อ เดิมชาวไทลื้อมีถิ่นที่อยู่บริเวณหัวน้ำของ (น้ำโขง) เมืองลื้อหลวง จีนเรียกว่า "ลือแจง" ต่อมาได้เคลื่อนย้ายลงมาอยู่บริเวณเมืองหนองแส หรือที่เรียกว่า คุนหมิงในปัจจุบัน แล้วย้ายลงมาสู่ลุ่มน้ำของ (น้ำโขง) สิบสองปันนา ประมาณคริสตวรรษที่ 12 หรือพุทธศตวรรษที่ 17 เจ้าเจื๋องหาญ วีระบุรุษชาวไทลื้อได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ แถบนั้นตั้งเป็นอาณาจักรแจ่ลื้อ (จีนเรียกเซอลี่) โดยได้ตั้งศูนย์อำนาจการปกครองเอาไว้ที่หอคำเชียงรุ่งนานถึง 790 ปี ต่อมาถึงสมัยเจ้าอิ่นเมือง ครองราชในปี ค.ศ. 1579-1583 (พ.ศ. 2122-2126) ได้แบ่งเขตการปกครองเป็นสิบสองหัวเมือง แต่ละหัวเมืองให้มีที่ทำนา 1,200 หาบข้าว (เชื้อพันธุ์ข้าว) ต่อหนึ่งที่/หนึ่งหัวเมือง จึงเป็นที่มาของสิบสองปันนา โดยได้แบ่งเขตการปกครองเอาไว้ในอดีต (ชัชวาล คำงาม, [ระบบออนไลน์], เข้าถึงเมื่อ 20 เมษายน 2560) ดังนี้

1. ปันนาเชียงรุ่ง มี ๒ เมือง คือเมืองเชียงรุ่ง, เมืองฮำ

2. ปันนาเมืองแจ่ มี ๓ เมือง คือเมืองอ๋อง, เมืองงาด, เมืองแจ่

3. ปันนาเมืองหน มี ๒ เมือง คือเมืองปาน, เมืองหน

4. ปันนาเมืองเจียงเจื่อง มี ๒ เมือง คือเมืองฮาย, เมืองเจื่อง

5. ปันนาเจียงลอ มี ๔ เมืองคือเมืองมาง, เมืองงาม, เมืองลางเหนือ, เมืองเจียงลอ

6. ปันนาเมืองลวง มี ๑ เมืองคือเมืองโลง

7. ปันนาเมืองลา มี ๒ เมือง คือเมืองบาง, เมืองลา

8. ปันนาเมืองฮิง มี ๒ เมืองคือเมืองวัง, เมืองฮิง

9. ปันนาเมืองล้า มี ๒ เมืองคือเมืองบาน, เมืองล้า

10. ปันนาเมืองพง มี ๒ เมืองคือเมืองหย่วน, เมืองพง อีกเมืองส่างกาง ส่างยอง

11. ปันนาเมืองอู๋ มี ๒ เมืองคือเมืองอู๋ใต้, เมืองอู๋เหนือ (ปันนานี้ตกเป็นเขตแดนลาวล้านข้าง สมัยฝรั่งเศสปกครองประเทศลาวถึงปัจจุบัน)

12. ปันนาเจียงตอง มี ๔ เมืองคือ เมืองบ่อล้า, เมืองอีงู, เมืองอีปัง, เมืองเจียงตอง

สิบสองปันนาในสมัยอาณาจักรน่านเจ้าเป็นถิ่นที่อยู่ของชนเผ่าต่างๆ ที่มีความเป็นอยู่และขนบธรรมเนียมที่คล้ายกัน จักรพรรดิ์จีนในยุคนั้นจึงให้รวมไว้เป็นอาณาจักรเดียวกัน และต่อมาในยุคสมัยจักรพรรดิ์จีนชื่อเฉิงฮว่า (พ.ศ.2008-2030) ซึ่งตรงกับอาณาจักรอยุธยาสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991 – 2031) และอาณาจักรล้านนาในยุคสมัยพระยาติโลกราช (พ.ศ. 1985 – 2030) ซึ่งในยุคนี้อาณาจักรล้านนาแยกตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นกับอาณาจักรใด และเป็นยุคที่จักรพรรดิจีนอ่อนแอมีขันทีว่าราชการแทน จึงถูกจักรวรรดิ์เวียดนาม (แกว/ญวน) โดยจักรพรรดิเล ทั้ญ ตง (ราชวงศ์เหิ่วเล) (พ.ศ. 2003 – 2040) แต่งตั้งแม่ทัพชื่อเจ้าบัวสามเข้าทำศึก โดยพยายามรวบรวมชนเผ่าต่างๆ ในแถบนั้นให้เป็นปึกแผ่น โดยเข้ายึดเมืองหลวงพระบาง (เมืองชวาขณะนั้น) และเตรียมเข้ายึดเมืองน่าน พระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนาจึงแต่งตั้งท้าวขาก่านเจ้าเมืองฝางไปเป็นเจ้าเมืองน่านและทำศึกกับเจ้าบัวสามแม่ทัพแกว ท้าวขาก่านนำทัพเมืองน่านที่มีกำลังประมาณ 40,000 คนเข้าสู้กับกองทัพเจ้าบัวสามที่มีกำลังกว่า 3 ล้านคน และรักษาเมืองน่านไว้ได้โดยได้สังหารเจ้าบัวสามไปด้วย จึงทำให้ท้าวขาก่านมีชื่อเสียงเลื่องลือ พระเจ้าติโลกราชจึงใช้โอกาสนี้เจริญสัมพันธไมตรีกับจักรวรรดิ์จีน โดยส่งทหารนำหัวแม่ทัพนายกองของแกวรวมถึงหัวเจ้าบัวสามและเชลยศึกไปบรรณาการแก่เจ้าเมืองหนองแส (จักพรรดิ์ฮ่อปกครองสิบสองปันนาสมัยนั้น) และเป็นแม่ทัพจีนที่พยายามบุกยึดจักรวรรดิ์เวียดนามใช้เวลากว่า 20 ปีก็ไม่สำเร็จ เมื่อฟ้าเมืองแสได้รับรู้เรื่องราวจึงส่งสารตราตั้งให้พระเจ้าติโลกราชเป็นใหญ่ในดินแดนตะวันตก ส่วนดินแดนตะวันออกเป็นถิ่นของจักรพรรดิ์จีน พร้อมกับส่งช่างหลวงฝีมือดีมาวาดภาพเท้าขาก่านไปเก็บไว้ในหอปรประวัติศาสตร์ของจีน (อ้างอิงจาก วิกิพีเดีย, ท้าวขาก่าน) ตลอดระยะเวลา 20 ปี ของการปกครองเมืองน่าน ท้าวขาก่านได้บูรณะพระธาตุแช่แห้งเพื่อการสักการบูชาของชาวเมืองน่านมาตราบจนทุกวันนี้ รวมถึงการอ้างอิงถึงท้าวขาก่านของชนเผ่าพื้นเมืองก่อ-อึมปี้ ว่าเป็นผู้ที่นำพาบรรพบุรุษของพวกเขามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่บ้านสะเกิน จากการออกสำรวจแหล่งผลิตดินปืนของเจ้าเมืองน่านขณะนั้นและได้พบถ้ำสะเกินที่เป็นถ้ำขี้ค้างคาว มีดินจากขี้ค้างคาวที่เหมาะแก่การทำดินปืน และให้บรรพบุรุษก่อ-อึมปี้ ที่มีความรู้ด้านดินปืนมาตั้งรกรากในพื้นที่นี้เพื่อผลิตดินปืนส่งเจ้าเมืองน่าน (อ้างอิงคำสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านสะเกิน, 6 มีนาคม 2560) แต่ทั้งนี้ยังไม่มีความชัดเจนถึงช่วงเวลาการเคลื่อนย้ายและรูปแบบการเคลื่อนย้ายของชนเผ่าพื้นเมืองก่อ-อึมปี้ จากอาณาจักรน่านเจ้าเข้ามาตั้งหลักปักฐานอยู่ในพื้นที่จังหวัดน่านและจังหวัดแพร่ จะมีความเชื่อมต่อของช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์เป็นเช่นไร แต่ก็คงเชื่อได้ประการหนึ่งว่าบรรพบุรุษของชนเผ่าพื้นเมืองก่อ-อึมปี้ นั้นมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบตอนใต้ของประเทศจีนและปะปนอยู่กับชนเผ่าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่ ฯลฯ ในกลุ่มชนชาติไท จากการอ้างอิงข้อมูลทางประวัติศาสตร์เรื่องราวของเจ้าผู้ครองอาณาจักรหรือจักรวรรดิ์ต่างๆ ทั้งที่บันทึกไว้ในประเทศจีนและประเทศไทย จึงสามารถนำมาอ้างอิงถึงถิ่นกำเนิดของชนเผ่าพื้นเมืองก่อ-อึมปี้ในการรวบรวมข้อมูลครั้งนี้