ชุมชนชาวก่อ-อึมปี้
ก่อ -อึมปี้ มีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนอยู่ใน 2 หมู่บ้าน 2 จังหวัด คือ หมู่บ้านสะเกิน จังหวัดน่าน และบ้านดง จังหวัดแพร่ การกำหนดชื่อเรียกของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองจากคำว่า “อึมปี้” เป็น “ก่อ(อึมปี้)” เกิดขึ้นจากการประชุมร่วมกันระหว่างแกนนำสองพื้นที่ ซึ่งแต่เดิมในพื้นที่บ้านดง จังหวัดแพร่ ได้ใช้คำว่า “อึมปี้” เป็นที่รู้จักกันในกลุ่มนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีคำว่า “ก่อ” แต่ผลจากการเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ร่วมกันระหว่างชาวก่อบ้านสะเกิน จังหวัดน่าน กับชาวอึมปี้บ้านดง จังหวัดแพร่ในวันที่ 7 มีนาคม 2560 ได้ข้อสรุปว่าทั้งสองพื้นที่เป็นพี่น้องกันมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ มีการไปมาหาสู่กันและพูดภาษาเดียวกัน แต่ทางบ้านสะเกินไม่เคยรู้จักคำว่า “อึมปี้” ที่ชาวบ้านดงเรียกตัวเอง และยืนยันให้ใช้ชื่อ “ก่อ” และทางบ้านดงก็ได้เห็นพ้องด้วย แต่ขอให้มีคำว่า “อึมปี้” วงเล็บไว้ท้ายเป็น “ก่อ(อึมปี้) ด้วย เพราะมีงานทางด้านวิชาการของหลายหน่วยงานก่อนหน้านี้ใช้คำว่า “อึมปี้” มาก่อนแล้ว ทั้งนี้หากมีการรณรงค์สื่อสารความรู้ใหม่และได้ความชัดเจนแล้วจะใช้คำว่า “ก่อ” เพียงคำเดียวก็ได้ภายหลัง
ชุมชนก่อ-บ้านสะเกิน
ความเป็นมา
บ้านสะเกิน เดิมเรียกชื่อกันว่าบ้าน “เสือกืน” ซึ่งหมายถึงเป็นพื้นที่ที่มีเสือชุกชุมใครเข้าไปแล้วอาจไม่รอดกลับมาเพราะถูกเสือกิน เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นเขตป่าดงดิบหนาทึบมีภูเขาสูงล้อมรอบแอ่งกระทะที่เป็นที่ราบแม่น้ำงิม ซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนต่อมาจนถึงปัจจุบัน จากประวัติศาสตร์บอกเล่าที่เชื่อว่าคนก่อบ้านสะเกิน ได้ถูกเกณฑ์จากเจ้าเมืองน่านให้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านสะเกิน ซึ่งแต่เดิมอยู่บริเวณบ้านม่วงเน่า (บ้านเชียงแล) อำเภอท่าวังผา และเคลื่อนย้ายมาอยู่บริเวณบ้านยอด อำเภอสองแคว เจ้าเมืองน่านในสมัยนั้น (ไม่ทราบว่าอยู่ในยุคเจ้าเมืองคนใด) ได้มีการสำรวจแหล่งผลิตดินปืน และได้มาพบกับถ้ำขี้ค้างคาว (ถ้ำสะเกิน) ซึ่งอยู่เหนือหมู่บ้าน จึงได้เกณฑ์บรรพบุรุษชาวก่อ ให้มาตั้งถิ่นฐานผลิตดินปืนจากขี้ค้างคาวส่งเข้าเมืองต่อเนื่องมาหลายยุคสมัยเจ้าปกครองเมืองน่าน
การตั้งบ้านเรือน
ชนชาวก่อบ้านสะเกิน ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณที่ราบแม่น้ำงึมซึ่งเป็นที่ราบเชิงเขาดอยผาปันและดอยผาหลวงซึ่งเป็นต้นน้ำแม่น้ำงึม ปัจจุบันมีทางหลวงหมายเลข 1148 น่าน-พะเยา ตัดผ่านหมู่บ้านโดยที่ตั้งบ้านเรือนส่วนใหญ่จะอยู่ฝั่งขวาหากเดินทางจากน่านไปพะเยา หมู่บ้านสะเกินจะเป็นหมู่บ้านสุดเขตแดนจังหวัดน่านบริเวณแม่น้ำงึมฝั่งซ้าย เมื่อข้ามแม่น้ำงึมไปจะเป็นเขตจังหวัดพะเยาบริเวณบ้านห้วยเฟือง
การตั้งชุมชนของชาวก่อ(อึมปี้) บ้านสะเกิน เป็นกลุ่มบ้านที่อยู่บนที่เนินที่เป็นที่ลาดเชิงเขาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพื้นที่ซึ่งทอดตัวลงมาสู่ที่ราบแม่น้ำงึม โดยที่ราบริมฝั่งแม่น้ำงึมที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้านจะเป็นพื้นที่นาข้าวของชาวบ้านสะเกิน
ครัวเรือนและประชากร
ประชากรในหมู่บ้านสะเกิน จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2559/60 เป็นชนเผ่าพื้นเมืองก่อบ้านสะเกิน มีจำนวน 112 ครัวเรือน ประชากรรวม 408 คน เป็นชายและหญิงเท่าๆ กันคือ 204 คน ประชากรเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 3.64 คน โดยมีผู้ชายเป็นหัวหน้าครัวเรือนร้อยละ 81.25 ที่เหลือผู้หญิงเป็นหัวหน้าครัวเรือน สมาชิกในครัวเรือนร้อยละ 76.47 มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดคือเป็นบิดา-มารดา-บุตร
ชาวก่อบ้านสะเกิน มีการจัดแบ่งกลุ่มคนในหมู่บ้านด้วยการจัดแบ่งเป็นสายตระกูล ที่มาของสายตระกูลยังไม่มีความชัดเจนมากนักว่ามีความเป็นมาอย่างไร แต่สันนิษฐานเบื้องต้นว่าเกิดจากยุคสมัยที่มีการตั้งป้อมค่ายและเมืองหน้าด่านปางค่าที่มีเจ้าหลวงจองคำเป็นผู้นำ ซึ่งมีการตั้งคุ้มปกครองกันขึ้น จากนั้นเมื่อเจ้าหลวงจองคำและผู้นำต่างๆ เสียชีวิตลงในพื้นที่จากการสู้รบ จึงยังคงสืบทอดสายตระกูลด้วยการบูชาผีบรรพบุรุษในแต่ละสายตระกูลต่อมาจวบจนทุกวันนี้ (สายตระกูลอาจมีความใกล้เคียงกับเครื่องหมายประจำตระกูล)
สายตระกูลของชนเผ่าพื้นเมืองก่อ(อึมปี้) บ้านสะเกิน มีทั้งหมด 4 สายตระกูลหลัก คือ สายตระกูลพญาปุก่ำ สายตระกูลพญาขวา สายตระกูลพญาพรม และสายตระกูลพวกไต แต่ละตระกูลจะมีการตั้งศาล (เฮือนผี) ประจำตระกูลในที่ดินของผู้สืบทอดคนใดคนหนึ่ง โดยชาวก่อ(อึมปี้) บ้านสะเกิน เรียกว่า “เน่ออิ” และมีผู้ทำหน้าที่สื่อสารกับผีบรรพบุรุษเรียกว่า “ข้าวจ้ำ” และเป็นคนกลางเพื่อการตัดสินการผิดจารีตประเพณีของคนก่อ(อึมปี้) ระหว่างสายตระกูล ปัจจุบันผู้ทำหน้าที่ “ข้าวจ้ำ” ยังเป็นผู้ทำหน้าที่รวบรวมเงินทุนของสายตระกูลเพื่อทำพิธิกรรมไหว้ผีตระกูล ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือน 6 เหนือ (เมษายน) ถึงเดือน 8 เหนือ (มิถุนายน) ของทุกปี
การผิดจารีตของแต่ละสายตระกูลจะมีข้อแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย แต่หลักๆ ที่ถือว่าเป็นการผิดจารีตของตระกูลเหมือนๆ กันคือ
การลักลอบเล่นชู้สู่ชาย
การยิงปืนหรือทำปืนลั่นในบริเวณบ้านเรือนและอาณาบริเวณ
การเข้าไปยังห้องนอนหรือห้องอื่นๆในบ้านเรือน โดยที่เจ้าบ้านไม่ได้อนุญาต
การชกต่อยทะเลาะวิวาทกันในบ้านเรือน
เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งดังกล่าว ข้าวจ้ำของแต่ละตระกูลจะทำหน้าที่ตัดสินเรียกค่าสินไหม และต้องทำการขอขมาที่เฮือนผี หรือ เน่ออิ โดยสายตระกูลพญาปุก่ำ จะมีเครื่องเซ่นประกอบด้วย ไก่ 3 คู่ เหล้า 1 ขวด ผ้าขาว ผ้าแดงอย่างละนิด หมากพลู และอื่นๆ ในสายตระกูลพญาพรมจะมีเครื่องเซ่นเป็น หมู 1 ตัว เหล้า 1 ขวด และเครื่องประกอบอื่นๆ เป็นต้น
การสืบทอดสายตระกูลของทั้งสี่ตระกูลนั้นจะมีความแตกต่างกัน คือ พญาปุก่ำและพญาขวาจะถือญาติฝ่ายผู้หญิง ส่วนพญาพรมจะถือญาติฝ่ายผู้ชาย และพวกไตจะไม่ถือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นสำคัญ (ฝ่ายไหนก็ได้) แต่ทั้งนี้ต้องมีการศึกษาในรายละเอียดกันอีกครั้ง
การสืบทอดสายตระกูลของชนเผ่าก่อ(อึมปี้) จะมีเฉพาะในหมู่บ้านสะเกินเท่านั้น ก่อ(อึมปี้) บ้านดง จะไม่มีการสืบทอดสายตระกูลแบบนี้ และการสืบทอดสายตระกูลนี้นับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชนเผ่าก่อ(อึมปี้) บ้านสะเกินที่ทำให้เกิดการสืบหาพี่น้องและเครือญาติกันได้อย่างไม่ขาดสาย โดยดูรายละเอียดได้จากหัวข้อระบบความสัมพันธ์และเครือญาติ